วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

ความร้ายแรงของสารเคมีในสบู่ที่เราใช้น่ากลัวแค่ไหน

สารเคมีสังเคราะห์ในสบู่เหลวภัยเงียบที่มองไม่เห็น

ดัง ได้กล่าวแล้วว่าส่วนประกอบส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตสบู่เหลวนั้นเป็นสารเคมี สังเคราะห์ จะมีส่วนผสมของสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติอยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อย ส่วนผสมของสบู่เหลวมีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนประกอบหลักและส่วนประกอบเพิ่มเติม

ส่วนประกอบหลัก
ส่วน ประกอบหลักคือ สารชำระล้าง (detergent) เพื่อทำหน้าที่ในการทำความสะอาด ชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง สารชำระล้างแบ่งออกเป็นหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติ และประสิทธิภาพในการทำความสะอาดแตกต่างกัน และมีความเหมาะสมกับผิวแต่ละชนิดแตกต่างกันไปด้วย สารชำระล้างที่ใช้ในสบู่เหลวแบ่งออกเป็น 4 ชนิดคือ
สารชำระล้างชนิดประจุลบ มีคุณสมบัติในการทำความสะอาดได้ดีกว่าชนิดอื่น ทำให้เกิดฟองเร็วและมากราคาถูก จึงเป็นที่นิยมใช้เป็นสารหลักในสบู่เหลว แชมพู น้ำยาล้างจาน และน้ำยาทำความสะอาดอื่นๆ แต่สารชำระล้างชนิดประจุลบนี้ค่อนข้างแรง จึงอาจระคายเคืองต่อผิว ที่นิยมใช้มีอยู่หลายตัวเช่น
กลุ่ม fatty alcohol sulfate เช่น sodium lauryl sulfate
กลุ่ม fatty alcohol ether sulfate เช่น sodium lauryl ether sulfate
กลุ่ม alkyl ether sulfosuccinate เช่น sodium lauryl ether sulfosuccinate

สารชำระล้างชนิดประจุบวกมีประสิทธิภาพในการชำระล้าง และเกิดฟองน้อยกว่าชนิดประจุลบระคายเคืองต่อผิวหนัง และเนื้อเยื่อตา มีราคาแพงแต่มักจะนำมาใช้ร่วมกับสารชำระล้างชนิดประจุลบในปริมาณไม่มากนัก เพื่อช่วยแก้ไขจุดอ่อนของสารชำระล้างชนิดประจุลบ เพื่อไม่ให้สบู่เหลวมีประจุลบมากเกินไป ตัวอย่างของสารเคมีในกลุ่มนี้ได้แก่
polyquaternium 7, 10, 22
quaternary esters

สารชำระล้างชนิดไม่มีประจุ มีประสิทธิภาพในการชำระล้างได้ดี แต่มีฟองไม่มาก เป็นสารเคมีที่มีความอ่อนโยนกว่าสองชนิดที่ผ่านมา จึงมักใช้ในสบู่เหลวสำหรับเด็ก หรือใช้เป็นสารเสริมร่วมกับสารชนิดประจุลบ ตัวอย่างของสารเคมีในกลุ่มนี้ได้แก่ polyxyethylene fatty alcohols
สารชำระล้างชนิดสองประจุ สารชำระล้างในกลุ่มนี้ให้ฟองปานกลางและระคายเคืองต่อผิวน้อย จึงนิยมใช้ในการผลิตสบู่เหลวที่อ่อนโยน สบู่เหลวสำหรับเด็ก ตัวอย่างของสารเคมีในกลุ่มนี้ได้แก่ cocamidopropyl betaine

ส่วนประกอบรอง ที่อาจเพิ่มเติมเข้าไปในสบู่เหลว ได้แก่
สารปรับสภาพผิว ช่วยเพิ่มความอ่อนนุ่มให้แก่ผิวสารที่นิยมใช้ได้แก่ PEG - 7 glycerylco coate
สารทำให้ข้น เพื่อเพิ่มความเหนียวหนืดให้แก่สบู่เหลว สารที่นิยมใช้ได้แก่
coconut diethanolamine
lauric acid diethanolamine
sodium chloride หรือเกลือแกง
PEG 6000 distearate
PEG - 55 propylene glycol oleate

สารที่ทำให้เกิดประกายมุก เพื่อทำให้สบู่เหลวดูสวยงาม น่าใช้ ดูมีราคา สารที่ใช้ได้แก่ ethylene glycol distearate
ตัวทำลาย ช่วยเพิ่มความสามารถในการละลายน้ำของส่วนประกอบที่ไม่ละลายน้ำ เช่น น้ำหอม สารที่ใช้ได้แก่ PEG - 40 hydrogenated castor oil
สารกันเสีย สารที่นิยมใช้ได้แก่
methyl paraben, propyl paraben
2- bromo-2-nitro-1, 3 propanediol
isothiazolinone derivertives

ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น สีน้ำหอม สารฆ่าเชื้อโรค สมุนไพร วิตามินอี เป็นต้น โดยทั่วไปการใช้สารเคมีเหล่านี้ในการผลิตสบู่เหลว จะมีข้อกำหนดอย่างเข้มงวดในเรื่องของเกรดของสารเคมีที่เหมาะสมต่อผิว ปริมาณและความเข้มข้นที่เหมาะสม เพราะหากมีการใช้เกรด ปริมาณ และความเข้มข้นที่ไม่เหมาะสม เพราะหากมีการใช้เกรด ปริมาณ และความเข้มข้นที่ไม่เหมาะสม ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น ทำให้เกิดอาการแพ้ถ้าเข้าตาจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ หรือถึงขั้นตาบอดได้ เป็นต้น
อย่างที่กล่าวแล้วว่า สารเคมีสังเคราะห์เหล่านี้สามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ แล้วไปสะสมอยู่ในเซลล์อวัยวะภายในและกระแสเลือด มีรายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ในยุโรปและอเมริกายืนยันว่า สารเคมีเหล่านี้มีโอกาสที่จะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ตัวอย่างเช่น
สาร SLS และ SLES สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และจะไปสะสมอยู่ในดวงตา สมอง หัวใจ และตับ ซึ่งจะมีผลเสียต่ออวัยวะเหล่านี้ในระยะยาว SLS สามารถเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจกในผู้ใหญ่ และมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสายตาของเด็ก ทั้ง SLS และ SLES สามารถก่อให้เกิด nitrosamine ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อมันถูกใช้ร่วมกับ DEA : Diethanolamine หรือ TEA : Triethanolamine ซึ่งเป็นสารประกอบรอง

DEA หรือ TEA เมื่อทำปฏิกิริยากับ nitrosating agent ที่อาจปนเปื้อนมากับสารเคมี (เช่นสารกันบูด) ที่ใช้ในสบู่หรือเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตและเก็บรักษา จะทำให้เกิดสาร introsamine ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ผลการศึกษาของโครงการพิษวิทยาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาพบว่า DEA และ TEA สามารถซึมผ่านผิวหนัง และสะสมอยู่ในอวัยวะภายใน และเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในตับและไต สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา สหรัฐอเมริกาก็มีคำแนะนำให้ลดการใช้ DEA และ TEA แต่ก็ปรากฏว่าสารเคมีทั้งสองนี้ยังพบได้ไม่ยากในสบู่เหลว แชมพู และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ

PEG หรือ Polyethylene เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ทดแทนสารเพิ่มความชุ่มชื้น จึงมักถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และถนอมผิวพรรณสถาบันเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัตถุในสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้ PEG เพราะเป็นสารที่ระคายเคืองต่อผิวมาก และอาจเป็นสาเหตุของ ความผิดปกติในตับและไตได้นอกจากนี้สารเคมีในกลุ่ม PEG มีโอกาสที่จะปนเปื้อน dioxanes ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เป็นมะเร็งในตับและจมูกได้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็มีประกาศข้อห้ามและข้อกำหนดในการใช้ PEG ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและเครื่องสำอางเช่นเดียวกัน

นี่เป็นเพียง ตัวอย่างของสารเคมีเพียงไม่กี่ตัว แต่ก็เป็นตัวหลักๆ ที่ใช้ในสบู่เหลว ยังมีสารเคมีอีกหลายตัวในสบู่เหลวที่สามารถส่งผลได้ในลักษณะเดียวกัน หรือแตกต่างกันออกไป ถึงแม้เรื่องนี้จะมีการพูดถึงมาหลายปีแล้ว ก็ตามแต่ก็นับว่ายังเป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะสำหรับสังคมไทย และอันตรายที่เกิดจากสารเคมีเหล่านี้ก็ยังไม่ได้แสดงผลอย่างชัดเจน จึงมักจะมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่ถูกถามขึ้นมาเสมอว่า ถ้าเป็นจริงตามข้อมูลที่กล่าวมา ทำไมหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงปล่อยให้มีการใช้สารเคมีเหล่านี้ในหมู่สบู่เหลว หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ อยู่อีก? คำตอบของคำถามนี้ก็คงเหมือนกับคำถามที่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงปล่อยให้มีการผลิตบุหรี่ เหล้า อยู่อีก? หรือทำไมจึงปล่อยให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในการปลูกพืชผักอยู่อีก? จึงอยากให้เราลองชั่งใจดูว่าจะเชื่อข้อมูลของฝ่ายไหนดี จะยังเชื่อคำโฆษณาของผู้ผลิตและใช้สบู่เหลวกันต่อไปหรือจะเริ่มฟังหูไว้หู กับคำเตือน ว่าสารเคมีเหล่านี้อาจจะก่อผลเสียทั้งเบาทั้งหนักแก่เราได้อย่างไม่ทัน รู้ตัว แล้วลองถามตัวเราเองต่อไปว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้ต้องใช้สบู่เหลวที่มีสารเคมีล้วนๆ จะไม่พยายามลดการใช้สารเคมีลงไปบ้างหรือลองหาทางเลือกอื่นๆ ในการที่จะไม่ใช้สารเคมีกับร่างกายเรา หันกลับไปใช้สบู่ก้อน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีสารเคมีน้อยกว่าหรือหันไปใช้สมุนไพร สารจากธรรมชาติในการทำความสะอาด หรือหากยังชอบใจการใช้สบู่เหลวอยู่ละก็ ลองหันไปหาสบู่เหลวธรรมชาติ ซึ่งก็คงจะหาซื้อค่อนข้างยาก ทางที่ดีลงมือทำสบู่เหลวธรรมชาติที่แท้จริงใช้เองซ่ะเลย ว่าแต่ว่าคุณรู้หรือไม่ว่า สบู่เหลวที่แท้จริงคืออะไรและทำได้อย่างไร?


เอกสารอ้างอิง : " เครื่องสำอางเพื่อความสะอาด " เขียนโดย ผศ.พิมพร ลีลาพิสิฐ
พิมพ์ โดย ศูนย์ส่งเสริมตำราและเอกสารวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ พ.ศ. 2532 " คู่มือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเศรษฐกิจชุมชน "
จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กันยายน พ.ศ. 2543

ความปลอดภัยของสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสําอาง

ความปลอดภัยของสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสําอาง

ขณะนี้ได้มีข่าวเกี่ยวกับสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ต่างประเทศได้ยกเลิกการใช้สารประเภทนี้ไปแล้ว แต่ในประเทศไทยยังมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง โดยเฉพาะสบู่เหลว ซึ่งใช้กันทุกเพศทุกวัย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่ได้นิ่งนอนใจได้ทำการสืบค้นและติดตาม ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสารที่ใช้ในเครื่องสำอางมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณี ความปลอดภัยของสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสำอาง

สารโซเดียม ลอริล ซัลเฟต หรือที่นิยมเรียกในชื่อย่อว่า เอสแอลเอส (Sodium Lauryl Sulfate : SLS) เป็นสารที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ช่วยให้สิ่งสกปรก คราบไขมันหลุดออกไปได้ง่ายขึ้น จึงเรียกง่ายๆ ว่าเป็นสารทำความสะอาด นิยมใช้ทั้งในวงการอุตสาหกรรมและเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น เครื่องสำอาง น้ำยาล้างจาน (โดยใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้) เครื่องสำอางที่นิยมผสมสารนี้ ได้แก่ เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกด้วยน้ำ เช่น สบู่เหลว แชมพู ตลอดจนยาสีฟัน

และจากการศึกษาวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและในคน พบว่าอันตรายของสารนี้ คือ ระคายเคือง ต่อดวงตา และผิวหนัง โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารนี้ในผลิตภัณฑ์ และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนสรุปว่าสาร SLS มีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดมะเร็งในคน ซึ่งข้อมูลความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดมะเร็งจากสารกลุ่มนี้ อาจมาจากสิ่งปนเปื้อนที่เป็นสารก่อมะเร็ง คือ 1,4 Dioxane แต่ปัจจุบันในกระบวนการผลิตสารทำความสะอาด สามารถกำจัดสิ่งปนเปื้อนนี้ได้ด้วยการใช้ระบบสูญญากาศ (ซึ่งไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก) อีกทั้งได้มีการศึกษาพบว่า โอกาสที่จะพบ 1,4 Dioxane ในเครื่องสำอางสำเร็จรูปมีน้อย จึงไม่ควรกังวลว่าสาร SLS ในเครื่องสำอางจะก่อให้เกิดมะเร็ง

ทั้งนี้เครื่องสำอางที่ผสมสาร SLS อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้บ้าง เช่น แชมพูเข้าตาทำให้แสบตา หรือฟอกสบู่เหลวนานเกินไป อาจระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแห้งได้ ขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทย มิได้ห้ามใช้สารนี้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แต่หากผู้บริโภคต้องการหลีกเลี่ยงสาร SLS ในเครื่องสำอาง สามารถเลือกใช้เครื่องสำอางที่ฉลากระบุว่า “ Sodium Lauryl Sulfate Free” ได้

ขณะนี้มีสารทำความสะอาดอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กัน คือ Sodium Laureth sulfate (SLES) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า SLS และยังไม่มีข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการเป็นสารก่อมะเร็ง

ดังนั้น ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกกับเรื่องนี้จนเกินไป หากพบข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสาร หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงบวก หรือเชิงลบ จำเป็นต้องตรวจสอบแหล่งที่มา ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ ให้กระจ่างชัด ก่อนที่จะดำเนินการหรือตัดสินใจใดๆ

แหล่งที่มา: http://www.fda.moph.go.th/prac/watch/tips/sls.shtml